กสอ. ผนึก 7 ภาคีเครือข่าย ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมฟู้ดทรัค พร้อมชู 5 มาตรการ ขับเคลื่อนฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ให้เติบโตแข็งแรงและยั่งยืน

อัปเดตล่าสุด 20 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 1,947 Reads   

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ผนึก 7 ภาคีเครือข่าย แถลงความร่วมมือเพื่อยกระดับมาตรฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคให้เป็นที่ยอมรับของตลาด รองรับการขยายตัวของผู้ประกอบการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมชูแนวคิดพัฒนาอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคแบบคู่ขนาน ผ่าน 5 มาตรการสำคัญเร่งบ่มเพาะผู้ประกอบการให้เข้มแข็ง ขยายคลัสเตอร์ และเชื่อมโยงตลาดสากลหนุนเงินลงทุนตั้งเป้าส่งเสริมผู้ประกอบการสุ่ธุรกิจฟู้ดทรัค 3,500 ราย คาดว่าก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,260 ล้านบาท

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมร้านจำหน่ายสินค้าเคลื่อนที่ หรือ ฟู้ดทรัค มีการเติบโตที่รวดเร็ว ปัจจุบันมีรถฟู้ดทรัคกว่า 1,500 คัน ทั่วประเทศ แบ่งเป็นอาหารคาวร้อยละ 57 อาหารหวานร้อยละ 14 และเครื่องดื่มร้อยละ 29 ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 70 ที่เหลือ ร้อยละ 30 อยู่ในส่วนภูมิภาค ซึ่งจากการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มฟู้ดทรัคให้มีศักยภาพรวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงได้ดำเนินการนำร่องรวมกลุ่มผู้ประกอบการเป็นฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ ผ่านการจัดกิจกรรมบ่มเพาะ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจว่าผู้ประกอบการฟู้ดทรัคมีคุณภาพและมาตรฐาน โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 136 ราย และในปี พ.ศ. 2562 นี้ กสอ. ยังมุ่งมั่นส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฟู้ดทรัค โดยชูแนวคิดพัฒนาอุตสาหกรรมแบบคู่ขนาน เร่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการฟู้ดทรัคคลัสเตอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ผ่าน 5 มาตรการ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิดฟู้ดทรัคที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในสังคม ซึ่ง กสอ. ได้ร่วมมือกับ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอนามัย กรมการขนส่งทางบก สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันอาหาร สถาบันยานยนต์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จัดทำขอบเขตมาตรฐาน โดยอ้างอิงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ ด้านมาตรฐานความปลอดภัยและชีวอนามัย ทั้ง คน ครัว รถ และ ตลาด(Smart 4 Food Truck) ให้ผู้ประกอบการนำไปปรับใช้ในธุรกิจฟู้ดทรัคได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการพัฒนาบ่มเพาะผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้เข้มแข็ง ผ่านการอบรม “บันได 5 ขั้น สู่ความสำเร็จในธุรกิจฟู้ดทรัค” โดย กสอ. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมสัมมนาสร้างความตระหนักในธุรกิจฟู้ดทรัคในจังหวัดต่าง ๆ อาทิ กรุงเทพฯ พิษณุโลก เชียงใหม่ และนครราชสีมา รวมทั้งได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้ได้มาตรฐาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วม จำนวน 104 ราย และมีผู้ผ่านการอบรมแล้ว 2 รุ่นรวมจำนวนทั้งสิ้น 44 ราย ซึ่งจัดพิธีมอบเกียรติบัตร SMART 4 ในวันนี้ด้วย รวมถึง มาตรการการพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคในระดับประเทศ ด้วยการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการฟู้ดทรัคและผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฟู้ดทรัค เกิดเป็น “เครือข่ายฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ประเทศไทย” ซึ่ง กสอ. มีแผนขยายคลัสเตอร์ฟู้ดทรัคไปสู่จังหวัดสำคัญ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี ภูเก็ต และเชียงราย มาตรการการเชื่อมโยงสู่ตลาดฟู้ดทรัค ซึ่ง กสอ. จะเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการในคลัสเตอร์นี้ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง Big Brothers เเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โดยตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา กสอ. ได้นำผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ไปทดสอบตลาดทั้งในและต่างประเทศ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 25 ล้านบาท และมาตรการสุดท้าย ความพร้อมทางด้านเงินทุน โดย กสอ. ได้ปรับเกณฑ์การพิจารณาและประเภทของธุรกิจในการขอสินเชื่อจากโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยให้รองรับกลุ่มธุรกิจฟู้ดทรัค โดยมีอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 4 และมีวงเงินในการขอสินเชื่อถึง 1 ล้านบาท
 
“กสอ. มุ่งมั่นส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้เติบโตอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความเข้มแข็งและมีความยั่งยืน โดยคาดว่าปีนี้จะส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัคได้มากกว่า 3,500 ราย และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,260 ล้านบาท” นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย